ปราชญ์เกษตร

  [ ดูบทความทั้งหมด ]
 

ให้คะแนนบทความนี้

บทความหมายเลข 7 | คะแนน Rating: 0.0/5 ดาว (จากจำนวนโหวต 0 votes)

Tag : นิคมเกษตรพอเพียง
Bookmark and Share


นางสาวบุญชู นิลฉ่ำ


ที่อยู่

             เลขที่ 63 หมู่ 7 ตำบลน้ำรอบ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี 61160

โทรศัพท์

             087-045-2853

แนะนำปราชญ์เกษตร

                 นาง สาวบุญชู นิลฉ่ำ หรือ ป้าแจ๋ว ปราชญ์เกษตรฯ ส.ป.ก. จังหวัดอุทัยธานี ผู้มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่ามาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ป้าแจ๋วเลือกใช้ชีวิตด้วยอาชีพเกษตรใช้การเรียนรู้และสังเกตจาก ธรรมชาติ เป็นผู้นำครอบครัวที่ประกอบอาชีพการเกษตรจนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนมายาวนาน ด้วยอยากเห็นชุมชนมีสวัสดิการของตนเอง จึงได้ร่วมกับชุมชนก่อตั้ง “กลุ่มออมทรัพย์ บ้านหนองเจ๊กกวย” ขึ้นเมื่อปี2533 ด้วยเงินเพียงคนละ 10 – 20 บาท กระทั่งต่อมาได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ การทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ จาก ส.ป.ก. จากการเป็นนักสังเกต ทำให้ป้าแจ๋วนำความรู้ที่ได้ผสานกับความรู้เดิมด้านบัญชี นำมาประยุกต์ใช้กับครอบครัวและกลุ่มออมทรัพย์ได้อย่างลงตัว ด้วยแนวคิดที่มุ่งสร้างหลักประกันชีวิตให้เกิดกับทุกคนในชุมชน ทุกเดือนจะมีการออมร่วมกัน ผลกำไรที่เกิดกับกลุ่ม จะนำมาสู่การจัดการทั้งปันผลคืนสมาชิกเป็นสวัสดิการชุมชน ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทุนการศึกษา โดยคณะกรรมการทำงานด้วยการอาสาไม่มีผลตอบแทนใด ๆ ตั้งแต่เริ่มทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

องค์ความรู้

                 การสร้างเครื่องหีบอ้อยแบบชาวบ้าน และการทำน้ำตาลอ้อย,การบริหารจัดการพื้นที่



                 ด้าน การจัดการผลผลิต การสร้างเครื่องหีบอ้อยแบบชาวบ้าน และการทำน้ำตาลอ้อย เครื่องหีบน้ำอ้อย เทคโนโลยีพึ่งตนเองด้วยต้นทุนไม่ถึง 50 บาท ด้วย วิธีการคือ ใช้ไม้กระดานขนาดกว้างประมาณ 8 นิ้ว จำนวน 2 แผ่น ประกบกันโดยใช้น็อตยึดที่ปลายไม้ทั้ง 2 แผ่นให้ติดกันอย่างหลวม ๆ ปลายไม้กระดานแผ่นบน ผูกด้วยยางในรถจักรยานผูกติดกับกิ่งไม้ จากนั้นนำอ้อยที่ปอกเปลือกแล้ว สอดเข้าระหว่างไม้กระดาน แล้วขึ้นเหยียบบนไม้กระดาน น้ำอ้อยจะไหลลงสู่กะละมังที่รองรับอยู่ด้านล่าง ได้น้ำอ้อยสำหรับการทำน้ำตาลอ้อย วิธีการทำน้ำตาลอ้อย เมื่อหีบอ้อยแล้วนำน้ำอ้อยไปกรองให้สะอาด จากนั้นนำไปเคี่ยวทันทีหากทิ้งไว้ข้ามคืนจะทำให้การเคี่ยวให้เป็นน้ำตาลได้ ยาก ก่อไฟเตรียมไว้ แล้วตั้งกระทะเตรียมไว้โดยการใส่น้ำเปล่าทิ้งไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทะไหม้ และควบคุมไฟให้สม่ำเสมอ จากนั้นเทน้ำทิ้งแล้วจึงนำน้ำอ้อยสะอาดต้มในกระทะ จนเริ่มเดือดให้คอยซ้อนฟองและสิ่งเจือปนออกให้สะอาด คอยสังเกต ตลอดเวลา เมื่อน้ำเชื่อมยุบตัวแล้วก็เริ่มกวนทำน้ำตาล โดยมีวิธีการทดสอบคือ หยดน้ำเชื่อมลงในน้ำเย็นแล้วลองบีบ ถ้าน้ำเชื่อมยังนิ่มให้เคี่ยวต่อไปจนกว่าน้ำเชื่อมจะแข็งตัว ด้วยการทดสอบในน้ำเย็นเหมือนเดิม จึงราไฟ ให้ยกลงและคนจนน้ำตาลหนืด จึงค่อยหยอดลงใส่พิมพ์ หรือภาชนะเก็บไว้ใช้ต่อไป



                 ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ นอกจากจะมีการจัดการด้านผลผลิตแล้วยังมีการบริหารจัดการที่ดินโดยเลือก พันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ปลูก เช่น ปลูกไผ่เป็นแนวรั้ว ปลูกไม้ผลแซมในบริเวณพื้นที่ไร่ ปลูกไม้ใช้สอยตามบริเวณแนวแปลง กระทั่งปัจจุบันสามารถนำมาสร้างบ้าน ด้วยไม้ที่ตนเองปลูก อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักไว้รอบ ๆ บริเวณบ้าน เลี้ยงปลา และทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือน และยังมีเหลือแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านอีกด้วย การจัดการพื้นที่ทำไร่ จะทำโดยให้ดินได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สลับกับถั่วเขียว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน โดยจะปลูกช่วงวันที่ 15-20 กรกฎาคม ของทุกปี เพราะข้าวโพดจะออกดอกเมื่ออายุประมาณเดือนครึ่ง และหากมีฝนในช่วงที่ออกดอกก็จะทำให้ผลผลิตดี ซึ่งจากประสบการณ์ ประมาณปลายเดือนสิงหาคมพื้นที่บริเวณนั้นจะเริ่มมีฝนซึ่งจะพอดีกับข้าวโพด ออกดอก อีกทั้งการปลูกช่วงนี้ยังเป็นช่วงปลอดโรคแมลงรบกวน หากมีโรคพืชรบกวน ป้าแจ๋วก็จะแก้ไขป้องกันแต่แรกโดยใช้สมุนไพร ซึ่งมีสูตร ดังนี้ ตระไคร้หอม 20 กิโลกรัม บอระเพ็ด 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 5 ลิตร ยาสูบ 1 กิโลกรัม น้ำ 200 ลิตร หมักในถัง 200 ลิตร ประมาณ 1 เดือน นำมาใช้ โดยใช้น้ำหมัก ครึ่งแก้ว ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นไล่แมลงได้ เพื่อป้องกันการระบาดรวมถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาเพลี้ยกินใบ โดยใช้น้ำหมักจากหอยเชอร์รี่ ด้วยวิธีทำดังนี้ หอยเชอร์รี่ 10 กิโลกรัม ผสมน้ำมะพร้าวอ่อน 20 ลิตร และกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม หมักทิ้งไว้ 1 เดือน วิธีใช้ คือ ใช้น้ำหมักครึ่งแก้วต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อป้องกันเพลี้ย


เข้าชม : 1171    [ ขึ้นบน ]


บทความ  นิคมการเกษตรอ้อย 5 บทความล่าสุด

      นายขวัญชัย รักษาพันธ์  12 / ต.ค. / 2553
      นางสาวบุญชู นิลฉ่ำ   17 / ส.ค. / 2553
      นายชิต ขวัญคำ  18 / มิ.ย. / 2553
      นายเลี่ยม บุตรจันทา  11 / ต.ค. / 2550
      นายบุญชิต สมัตถะ  11 / ต.ค. / 2550